MBA Gossip

  • ข้าวผัดหมู - *เครื่องปรุง* 1. ข้าวสวย ¾ ถ้วยตวง 2. หมูสับ 50 กรัม 3. หมูแฮมหั่นเป็นเส้นฝอย 3 แผ่น 4. หมูยอหั่นเป็นสี่เหลี่ยมลูกเต๋า 1 ช้อนโต๊ะ 5. กระเทีย...
    7 ปีที่ผ่านมา
  • ปวดหลัง - * อาการปวดหลังร่วมกับแขนขาชาไม่มีแรง* กลั้นปัสสาวะและอุจจาระไม่ได้ ซึ่งลักษณะอาการดังกล่าวเป็นไปได้ว่าไขสันหลังได้รับบาดเจ็บ ทางที่ดีควรรีบปรึก...
    7 ปีที่ผ่านมา
  • เพื่อนแพง - พุทธศักราช 2476 นาข้าวชูรวงทองเหลืองอร่ามเต็มท้องทุ่งบ้านสร้าง อำเภอหนึ่งในจังหวัดปราจีนบุรี เสียงควบขี่ไอ้เปลี่ยว ควายคู่ใจของ ไอ้ลอ (ศุกลวัฒน์ คณารศ)...
    8 ปีที่ผ่านมา
Custom Search
วันเสาร์ที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2556

แนวคิดที่สำคัญในการจัดการเชิงกลยุทธ์

แนวคิดพื้นฐานที่สำคัญของการจัดการเชิงกลยุทธ์ คือการกำหนดภารกิจ  วัตถุประสงค์และเป้าหมายของกิจการทั้งในระยะสั้นและระยะยาว  โดยการจัดการเชิงกลยุทธ์และการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์จะมีผลต่อการดำเนินงานในระยะยาว

          ดังนั้นองค์การจึงต้องมีการวางแผนการทำกิจกรรมต่าง ๆ  เพื่อให้การดำเนินงานตามภารกิจบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้  ทั้งนี้เพื่อให้ตอบสนองต่อกระแสการเปลี่ยนแปลง  ซึ่งอาจจะเป็นอุปสรรคและบดบังโอกาสในการก้าวหน้าขององค์การได้

          ฉะนั้นองค์การจึงต้องพิจารณาถึงจุดแข็งที่มีอยู่แล้วนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์  และพิจารณาถึงจุดอ่อนขององค์การเพื่อหาแนวทางขจัดจุดอ่อนเหล่านั้นเสีย
ในแนวคิดด้านการจัดการเชิงกลยุทธ์นั้น จะมีความแตกต่างไปจากการจัดการโดยทั่วไป ซึ่งมักจะศึกษาถึงบทบาทหน้าที่ของผู้บริหาร  ตามกระบวนการหรือขั้นตอนต่าง ๆและเน้นหนักไปที่การจัดการและการบริหารภายในองค์การ  แต่การจัดการเชิงกลยุทธ์จะให้ความสำคัญกับปัจจัยต่าง ๆ โดยเฉพาะปัจจัยภายนอกองค์การ  หรือสภาวะแวดล้อมภายนอกด้านต่าง ๆ ที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับการแข่งขัน  คำนึงถึงการสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันในระยะยาว  และสภาวะการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรม

          การจัดการกลยุทธ์ยังคำนึงถึงความความสำคัญของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับองค์การ (Stakeholders) และการจัดการเชิงกลยุทธ์ยังทำหน้าที่ในการเชื่อมโยงประสานหน่วยต่าง ๆ ในองค์การให้สามารถบริหารจัดการเพื่อบรรลุเป้าหมายขององค์การร่วมกัน

หลักการสำคัญของการจัดการเชิงกลยุทธ์

          การจัดการเชิงกลยุทธ์จะนำไปสู่การเพิ่มโอกาสของความสำเร็จและความล้มเหลวขององค์การได้อย่างไรนั้นมีหลักสำคัญดังนี้

          1. การจัดการเชิงกลยุทธ์เป็นการกำหนดวิสัยทัศน์ ทิศทาง ภารกิจ และวัตถุประสงค์
ขององค์การธุรกิจอย่างเป็นระบบ  ดังนั้นการจัดการเชิงกลยุทธ์จึงเป็นสิ่งที่กำหนดทิศทางขององค์การ  และช่วยให้นักบริหารปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม  การตระหนักถึงความเปลี่ยนแปลงนั้น  ทำให้นักบริหารสามารถกำหนดวัตถุประสงค์และทิศทางการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรม  สอดคล้องกับสภาวะความเปลี่ยนแปลงได้

          2. การจัดการเชิงกลยุทธ์ยังนำไปสู่การจัดการความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น  เนื่องจากมีการเตรียมรับกับสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงไว้แล้ว  ทำให้องค์การค้นหาแนวทางที่เหมาะสมที่สุดต่อองค์การ  ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยต่าง ๆ ที่เข้ามาเกี่ยวข้อง  ทั้งนี้เนื่องจากการจัดการเชิงกลยุทธ์เป็นการกำหนดวิธีการหรือแนวทางในการดำเนินงานและกิจกรรมต่าง ๆ ขององค์การ  เพื่อให้บรรลุเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ขององค์การที่ตั้งไว้

          3. การจัดการเชิงกลยุทธ์เป็นการนำแนวทางในการดำเนินองค์การที่คิดค้นสร้างสรรค์ขึ้น  และนำมาประยุกต์ใช้เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย  ดังนั้นความคิดสร้างสรรค์จึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับนักบริหาร

          4. การวางแผนกลยุทธ์เป็นหน้าที่หลักของนักบริหาร  เนื่องจากต้องวางแผนประยุกต์ใช้  และกำหนดทิศทางในการดำเนินงานขององค์การ  การจัดทำและปฏิบัติให้สอดคล้องตามแผนกลยุทธ์จึงมีความสำคัญโดยเฉพาะในระยะยาว  ดังนั้นความสามารถในการกำหนดกลยุทธ์ของนักบริหาร  และความสามารถในการควบคุมให้การปฏิบัติเป็นไปตามกลยุทธ์ที่วางไว้ได้  จะเป็นสิ่งสะท้อนศักยภาพและและสะท้อนของผู้บริหารได้เป็นอย่างดี

          5. การจัดการเชิงกลยุทธ์ทำให้เกิดความได้เปรียบในการแข่งขัน จะช่วยสร้างประสิทธิภาพและศักยภาพในการแข่งขันให้แก่ธุรกิจ  และเสริมสร้างการพัฒนาขีดความสามารถทางการบริหารของนักบริหาร  รวมทั้งช่วยเตรียมความพร้อมและพัฒนาบุคลากรที่อยู่ภายในองค์การ  เนื่องจากการพัฒนาเชิงกลยุทธ์จะต้องมีการสร้างความเข้าใจและแนวทางในการเตรียมพร้อม  เพื่อรับกับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นของสภาพแวดล้อมและคู่แข่ง  นอกจากนี้แล้วการจัดการเชิงกลยุทธ์ยังช่วยให้ผู้ที่เกี่ยวข้องในองค์การเข้าใจในภาพรวม  โดยเฉพาะเป้าหมายในการดำเนินงานทำให้สามารถจัดลำดับการดำเนินงานตามลำดับความสำคัญเร่งด่วนได้

          6. การจัดการเชิงกลยุทธ์ช่วยให้การทำงานเกิดความสอดคล้องในการปฏิบัติหน้าที่  เนื่องจากมีการกำหนดกลยุทธ์  การประยุกต์ใช้  และการตรวจสอบควบคุมไว้อย่างชัดเจน  ทำให้เกิดความเข้าใจตรงกันและเกิดความร่วมมือ  โดยเฉพาะความเข้าใจในวัตถุประสงค์ขององค์การ  อีกทั้งจะช่วยให้มีการจัดสรรทรัพยากรเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสอดคล้องกับการบริหารองค์การในส่วนต่าง ๆ

การจัดการเชิงกลยุทธ์

การจัดการเชิงกลยุทธ์เป็นศาสตร์ที่มีมานานโดยคำว่า กลยุทธ์ หรือ Strategic มีที่มาจากคำว่า Strategia  ในภาษากรีกซึ่งหมายความว่า Generalship โดยคำว่ายุทธศาสตร์มักจะถูกนำมาใช้ในด้านการเมือง  เศรษฐกิจ  และการทหาร  และได้เข้าสู่แวดวงการศึกษาในเวลาต่อมา  โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้นักศึกษาได้มีโอกาสศึกษาถึงปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในธุรกิจ  และต้องการให้เกิดการนำไปสู่การจัดทำนโยบายทางธุรกิจที่นำไปใช้เป็นแนวทางในการดำเนินงานได้ในอนาคต

การจัดการเชิงกลยุทธ์ (Strategic Management) โดยทั่วไป หมายถึงการกำหนดวิสัยทัศน์ (Vision) พันธกิจ (Mission) วัตถุประสงค์ (Objective) เป้าหมาย (Goal) ขององค์การในระยะสั้นและระยะยาว จากนั้นจึงวางแผนทำกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อให้องค์การสามารถดำเนินงานตามพันธกิจ  อันนำไปสู่การบรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่กำหนดไว้

          นอกจากนี้เนื่องจากสภาพแวดล้อมทางธุรกิจมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา  ซึ่งอาจก่อให้เกิดโอกาส  หรืออุปสรรคแก่องค์การได้  องค์การจึงจำเป็นต้องพิจารณาสภาพแวดล้อมภายในขององค์การ  เพื่อหาจุดแข็งหรือจุดอ่อนในการที่จะสามารถหลีกเลี่ยงจากอุปสรรคหรือใช้ประโยชน์จากโอกาสที่มีอยู่นั้นได้  ดังนั้นการจัดการเชิงกลยุทธ์จึงเป็นการบริหารโดยคำนึงถึง

1. ลักษณะการดำเนินงานขององค์การ
2. ลักษณะธุรกิจในอนาคต
3. สภาพแวดล้อม
4. การจัดสรรทรัพยากร
5. การปฏิบัติงานให้บรรลุผลตามวัตถุประสงค์
กลยุทธ์ระดับธุรกิจ(Business level strategy) หมายถึง กลยุทธ์ซึ่งมองหาวิธีการว่าจะแข่งขันอย่างไรในแต่ละหน่วยธุรกิจซึ่งบริษัทต้องพยายามที่จะสร้างสิ่งต่อไปนี้

1.ข้อได้เปรียบทางการแข่งขัน(Compititive advantages) หรือการสร้างความแตกต่างให้เหนื่อกว่าคู่แข่งขัน (competitive differentiation) เป็นกลยุทธ์ซึ่งมุ่งที่การผลิตสินค้าและบริการโดยคำนึงถึงความเป็นเอกลักษณ์ในอุตสาหกรรม มุ่งที่ผู้บริโภคโดยไม่คำนึงถึงราคา (Price-insensitive) มากนัก

2.ความเป็นผู้นำด้านต้นทุน (Cost leadership) กลยุทธ์ซึ่่งมุ่งที่การผลิตสินค้าที่มีมาตรฐาน(Standardized products)ด้วยต้นทุนต่อหน่วยที่ต่ำ โดยมีเป้าหมายสำหรับผู้บริโภคที่อ่อนไหวต่อราคา(Price-sensitive)

3.การปรับตัวที่รวดเร็ว (Quick-reponse) ในระดับธุรกิจนี้ ธุรกิจจะเผชิญกับคู่แข่งขัน เผชิญการแข่งขันในด้านการแสวงหาลุกค้า และยอดขาย บริษัทจะแข่งขันกับบริษัทอื่น ซึ่งมีธุรกิจคล้ายคลึงกัน และนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่คล้ายคลึงกัน ในตลาดที่คล้ายกันด้วย

4.การมุ่งที่ลูกคัากลุ่มเล็ก (Focus) เป็นกลยุทธ์ซึ่งมุ่งที่การผลิตสินค้าและบริการที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้ากลุ่มแล็ก

กลยุทธ์ระดับบริษัท

กลยุทธ์ระดับบริษัท (corporate  level  strategy)  เป็นกลยุทธ์ที่องค์การต้องมีการกำหนดทิศทางการดำเนินงานของทั้งองค์การว่าจะมีการมุ่งเน้นให้เกิดการเติบโตโดยธุรกิจเพื่อสร้างความมั่นคงกับธุรกิจก่อนที่จะมีการเติบโตต่อไปในอนาคต  การมุ่งเน้นการดำเนินงาน  3  แนวทาง  อันเป็นกลยุทธ์แม่บท ได้แก่  กลยุทธ์การเจริญเติบโต เป็นการขยายกิจกรรมการดำเนินงานของบริษัทเพิ่มขึ้น     กลยุทธ์การคงที่ เป็นการรักษากิจกรรมการดำเนินงานของบริษัทตามเดิมต่อไปไม่เปลี่ยนแปลง  และกลยุทธ์การหดตัว เป็นการลดระดับหรือขนาดของกิจกรรมการดำเนินงานของบริษัทลง  กลยุทธ์ทั้ง 3 ยังประกอบด้วยแนวทางการดำเนินงานหลายทาง
                อาจกล่าวได้ว่า กลยุทธ์แม่บท เป็นกลยุทธ์ระดับบริษัทที่มีหลักการจัดการกลยุทธ์ คือ การระบุถึงกิจกรรมสร้างคุณค่าให้แก่ธุรกิจ และค้นหาวิถีทางเหมาะสม  ในการขยายตัวหรือลดขนาด  ปัจจุบันต่างรวมตัวกัน (merger)  การซื้อกิจการ (acquisition)  ฯลฯ  วิธีการดังกล่าวเสมือนเป็นกลยุทธ์ที่มีเป้าหมาย คือ ทำให้สามารถในการทำกำไรในระยะยาวของบริษัทเป็นไปโดยสูงสุดโดยกลยุทธ์ระดับบริษัทที่มีการใช้กันอย่างกว้างขวางในธุรกิจปัจจุบันนั้นประกอบไปด้วยทางเลือกในการกำหนดทิศทางของธุรกิจสองด้าน คือ การมุ่งเน้นที่ธุรกิจอย่างใดอย่างหนึ่ง และการกระจายการลงทุนไปยังธุรกิจต่าง ๆ

การวิเคราะห์เครือข่ายธุรกิจเพื่อการลงทุน  เป็นการวิเคราะห์ประเมินเปรียบเทียบตำแหน่งของบริษัทในอุตสาหกรรมเพื่อกำหนดทิศทางการดำเนินงานของบริษัทหรือกลยุทธ์ระดับบริษัท  เพื่อให้ทราบว่าตำแหน่ง SBU ของบริษัทในปัจจุบันเป็นอย่างไร และจะได้กำหนดบทบาทของแต่ละ  SBU ของบริษัทได้อย่างเหมาะสม  ตลอดจนให้บริษัทได้จัดสรรงบประมาณและทรัพยากรให้มีประสิทธิภาพอีกด้วย โดยที่เครื่องมือที่นำมาใช้ ได้แก่
ตัวแบบของกลุ่มที่ปรึกษาแห่งเมืองบอสตันที่เป็นการวิเคราะห์โดยใช้ปัจจัยอัตราการเจริญเติบโตของอุตสาหกรรมและส่วนครองตลาดสัมพันธ์มาจัดแสดงในรูปของแมททริกซ์ เรียกว่า  “growth – share  matrix”  หรือ “BCG’s  matrix”  มาใช้ในการวิเคราะห์
ตัวแบบของบริษัทเจอเนอรัลอิเล็กตริก  เป็นการวิเคราะห์โดยหลักของ  SWOT  analysis  เพื่อประเมินจุดแข็ง  จุดอ่อน  โอกาส  และอุปสรรค  ของแต่ละ  SBU  ของบริษัท  โดยใช้ปัจจัยโอกาสและอุปสรรค  ได้แก่  ขนาดของตลาด  อัตราการเจริญเติบโตของตลาด  ความรุนแรงของการแข่งขัน  และข้อจำกัดทางด้านกฎหมาย  กับปัจจัยจุดแข็งจุดอ่อน  ได้แก่  ความรู้เกี่ยวกับอุตสาหกรรม  ส่วนครองตลาด  ความสามารถในการแข่งขันด้านราคา และการบริหารการตลาด เป็นต้น
              ตัวแบบวงจรชีวิตตลาดและความแข็งแกร่งทางแข่งขันเป็นการวิเคราะห์โดยใช้ปัจจัย  คือ  ความแข็งแกร่งทางการแข่งขันและขั้นตอนของวงจรชีวิตตลาดที่มีปัจจัยหลายปัจจัยเป็นเกณฑ์การประเมิน
วันอาทิตย์ที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2556

พฤติกรรมผู้บริโภค

ารวิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภคเป็นการค้นหาหรือวิจัยที่เกี่ยวกับพฤติกรรมการ ซื้อและบริโภคเพื่อทราบถึงลักษณะความต้องการและพฤติกรรมการซื้อและการใช้ของ ผู้บริโภค คำตอบที่ได้จะช่วยให้สามารถจัดกลยุทธ์ การตลาด ที่สามารถตอบสนองความพึงพอใจของผู้บริโภคได้อย่างเหมาะสม ดังรายละเอียดนี้
          1. ใครอยู่ในตลาดเป้าหมาย (who constitutes the market?) เป็นคำตอบเพื่อทราบถึงลักษณะของกลุ่มเป้าหมาย (occupants)
          2. ผู้บริโภคซื้ออะไร (what does the market buy?) เป็นคำถามเพื่อทราบถึงสิ่งที่ตลาดซื้อ (objects)
          3. ทำไมผู้บริโภคจึงซื้อ (why does the market buy?) เป็นคำถามเพื่อทราบถึงวัตถุประสงค์ในการซื้อ (objectives)
          4. ใครมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ (who participates in the buying) เป็นคำถามเพื่อทราบถึงบทบาทของกลุ่มต่าง ๆ ที่มีอิทธิพลหรือมีส่วนร่วมในการตัดสอนใจซื้อ (organization)
          5. ผู้บริโภคซื้ออย่างไร (how does the market buy?) เป็นคำถามเพื่อทราบถึงขั้นตอนในการตัดสินใจซื้อ (operations)
          6. ผู้บริโภคซื้อเมื่อใด (when does the market buy?) เป็นคำถามเพื่อทราบโอกาสการซื้อ (occasions)
          7. ผู้บริโภคซื้อที่ไหน (where does the market buy?) เป็นคำถามเพื่อทราบถึงโครงการสร้างช่องทาง ที่ผู้บริโภคจะไปซื้อในช่องทางการจัดจำหน่ายนั้น ๆ (outlets)

แนวคิดส่วนประสมทางการตลาดสำหรับธุรกิจให้บริการ นักวิชาการส่วนใหญ่ กล่าวว่า การจัดการตลาดธุรกิจประเภทต่าง ๆ เป็นการจัดการกับส่วนประสมทางการตลาดเพื่อสร้างข้อเสนอขาย ที่ก่อให้เกิดการซื้อ ขายสินค้า ให้บริการ ระหว่างผู้บริโภค ซึ่งส่วนประสมทางการตลาด 4 ประการ (marketing mix--4Ps) ได้แก่
          1. ผลิตภัณฑ์ (product) ผลิตสินค้าให้ตรงกับความต้องการ
          2. ราคา (price) กำหนดราคาให้มีกำไร
          3. ช่องทางการจัดจำหน่าย (place) หาซื้อสะดวกและรวดเร็ว
          4. การส่งเสริมการตลาด (promotion) ส่งเสริมให้ลูกค้าเกิดความต้องการ

          นอกจากนั้นยังต้องอาศัยเครื่องมืออื่น ๆ เพิ่มเติม ซึ่งประกอบด้วย
          1. บุคคลหรือพนักงาน ซึ่งต้องคัดเลือก ฝึกอบรม จูงใจ เพื่อให้สามารถสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้าได้แตกต่างเหนือคู่แข่ง
          2. การสร้างและนำเสนอลักษณะทางกายภาพ โดยพยายามสร้างคุณภาพโดยรวม (Total Quality Management--TQM) ให้เกิดขึ้น
          3. กระบวนการส่งมอบคุณค่าในการให้บริการกับลูกค้าได้รวดเร็ว ประทับใจลูกค้า


ส่วนประสมทางการตลาด (market mix) ของสินค้ามีพื้นฐานประกอบด้วย 4Ps แต่ Kotler (1997, p. 109) มีความเห็นว่า ส่วนประสมทางการตลาดของตลาดบริการ จะประกอบด้วย 7Ps ดังนี้
          1. Product: P1 (ผลิตภัณฑ์)
          2. Price: P2 (ราคา)
          3. Place: P3 (ช่องทางการจัดจำหน่าย)
          4. Promotion: P4 (การส่งเสริมการตลาด)
          5. People: P5 (พนักงาน)
          6. Process: P6 (กระบวนการให้บริการ)
          7. Physical Evidence: P7 (สิ่งแวดล้อมทางกายภาพ)

          ส่วนประสมการตลาดในมุมมองลูกค้า ประกอบด้วย
          1. Customer Value: C1 (คุณค่าที่ลูกค้าจะได้รับ)
          2. Cost to Customer: C2 (ต้นทุน)
          3. Convenience: C3 (ความสะดวก)
          4. Communication: C4 (การติดต่อสื่อสาร)
          5. Caring: C5 (การดูแลเอาใจใส่)
          6. Completion: C6 (ความสำเร็จในการตอบสนองความต้องการ
          7. Comfort: C7 (ความสบาย)
          ส่วนประสมทางการตลาดถูกสร้างขึ้นโดยคำนึงถึงความจำเป็น และความต้องการ (need and want) ของตลาดส่วนต่าง ๆ เพื่อให้บรรลุถึงวัตถุประสงค์ทางการตลาดของบริษัท และเพื่อตอบสนอง หรือสร้างความพึงพอใจ (satisfaction) ให้กับผู้บริโภคด้วย
Customer Relationship Management--CRM เป็นการสร้างความสัมพันธ์และบริหารความสัมพันธ์กับลูกค้า เพื่อให้เกิดความภักดี กำไรระยะยาว และมูลค่าตลอดชีพของลูกค้า โดยการออกแบบโปรแกรม CRM ที่ดีนั้นจะช่วยให้เราสามารถใช้ CRM ได้อย่างมีผลกำไรและผลตอบแทนที่สูง CRM จะสร้างความประทับใจ ความพอใจ และความภักดีให้เกิดขึ้น ลูกค้าจะกลับมาใช้บริการ ก่อให้เกิดผลกำไรต่อธุรกิจ ข้อมูลของลูกค้า เป็นหัวใจของ CRM ถ้ายิ่งมีข้อมูลลูกค้ามากขึ้น เราก็จะสามารถตอบสนองได้ตรงกับความต้องการของลูกค้า ลูกค้าจะเกิดความประทับใจและภักดีกับธุรกิจ สำหรับกฎการออกแบบ CRM ควรดำเนินการดังนี้
          1. ต้องมีระบบเก็บข้อมูลลูกค้าที่ดีและมีวิธีการเก็บรวบรวมข้อมูลทุก ๆ การติดต่อระหว่างลูกค้ากับธุรกิจ เป็นโอกาสที่จะเก็บข้อมูลลูกค้ามากขึ้น เรียนรู้ความต้องการของลูกค้ามากขึ้น จะทำให้สามารถสนองความต้องการของลูกค้าได้ตรงประเด็นมากขึ้น ข้อมูลสามารถแบ่งเป็นกลุ่มได้ดังนี้
               1.1 ลักษณะลูกค้า เช่น เพศ อายุ รายได้ อาชีพ การศึกษา และรูปแบบการดำเนินชีวิต
               1.2 ประวัติการติดต่อ การใช้ การซื้อ การรับบริการ และการร้องเรียนของลูกค้า
               1.3 ประวัติที่จะสามารถติดต่อลูกค้าผ่านสื่อต่าง ๆ เช่น จดหมาย แฟกซ์ โทรศัพท์ อีเมล์ และ SMS
               1.4 ผลการตอบสนองของลูกค้า ว่าลูกค้าพอใจ ชอบอะไร ไม่ชอบอะไร ตอบสนองต่อสิ่งเร้าทางการตลาดหรือข้อเสนอประเภทใดของธุรกิจ อะไรที่กระตุ้นจูงใจลูกค้าของธุรกิจให้ตอบสนองได้ดี
          2. ต้องมีระบบหมายเลขสมาชิก ซึ่งจะช่วยให้เราเจาะจงชี้ชัดได้ว่าทุกครั้งที่มีการติดต่อกับลูกค้า เราจะสามารถทราบว่าเขาเป็นใคร เราจะสามารถรู้จักความชอบและพฤติกรรมของลูกค้ารายนั้น ๆ ได้ทันที จากการดึงฐานข้อมูลลูกค้ารายนั้นผ่านหมายเลขสมาชิก เราจะสามารถตอบโต้ลูกค้าเสมือนว่ารู้จักลูกค้าเป็นอย่างดีและคุ้นเคย ทำให้ลูกค้าเกิดความประทับใจ
          3. ค้นหาลูกค้าคนสำคัญให้ได้จากชุมชนสมาชิก ลูกค้าทุกรายมีความสำคัญไม่เท่ากัน ระบบ CRM สามารถบ่งชี้ลูกค้าคนสำคัญได้ ด้วยการดูประวัติการใช้บริการ ความถี่ ต้องมีการแบ่งเกรดลูกค้าเป็นระดับ ตามความสำคัญของลูกค้า จัดสรรบริการ และข้อเสนอที่แตกต่างกันสำหรับแต่ละกลุ่มลูกค้า
          4. มีระบบการวิเคราะห์ที่ดี CRM มุ่งเป้าหมายไปที่ผลกำไรมากเท่าไร เรายิ่งต้องเน้นการเก็บข้อมูล การแยกแยะข้อมูล และการวิเคราะห์สรุปข้อมูล
          5. ต้องมีระบบยกระดับลูกค้า
          6. มีระบบปฏิบัติการดึงข้อมูลและอำนวยความสะดวกให้กับพนักงานด่านหน้า ในการติดต่อ พูดคุย ให้บริการลูกค้าได้แบบทันควัน ทุกที่ ทุกเวลา ทุกการติดต่อ และตอบสนองลูกค้าได้อย่างประทับใจ
วันอังคารที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2556

คลังสินค้า เป็นส่วนหนึ่งของระบบการจัดจำหน่าย

คลังสินค้า เป็นส่วนหนึ่งของระบบการจัดจำหน่าย และการกระจายสินค้า ซึ่งเกี่ยวพันกับระบบของการผลิต และการขนส่ง ซึ่งปัจจัยทั้งหมดดังกล่าวจัดเป็นต้นทุนเกือบทั้งหมดของการผลิตสินค้าต่อหนึ่งหน่วยเสมอ ดังนั้นจะเห็นได้ว่าหากมีการจัดการที่ดีมีประสิทธิภาพไม่ว่าจะเป็นด้านใดด้านหนึ่ง จะส่งผลต่อการลดต้นทุนทั้งสิ้น อันจะส่งผลไปสู่กำไรและการสร้างความพึงพอใจให้แก่ลูกค้าเสมอ ดังนั้นจะเห็นได้ว่าประโยชน์และความจำเป็นของคลังสินค้ามีมากมาย จึงขอสรุปให้เห็นชัดเจนเป็นข้อ ๆ ดังนี้
       1. เป็นสถานที่ที่ใช้ในการจัดเก็บสำรองวัตถุดิบ และสินค้าไว้ใช้ในการดำเนินงานอย่างเหมาะสม
       2. สามารถตอบสนองการทำงานในระบบการทำงานแบบทันเวลาพอดี (Just in Time)        รวมทั้งช่วยสนับสนุนให้การผลิตเป็นไปอย่างราบรื่น ลดความแปรปรวนด้านอุปสงค์ และอุปทาน
       3. ตอบสนองความพึงพอใจของลูกค้าในด้านการมีสินค้าและบริการไว้อย่างต่อเนื่องตลอดเวลา
       4. ป้องกันการขาดแคลนสินค้าที่อาจมีการปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์ของตลาด และฤดูกาล
       5. ก่อให้เกิดความประหยัดในด้านต้นทุนดำเนินการ และระบบการผลิตสินค้า
       6. สร้างความได้เปรียบด้านการแข่งขันในอุตสาหกรรม
   ซึ่งรายละเอียดที่สำคัญของประโยชน์ของคลังสินค้า มีดังนี้

       1. เป็นสถานที่ที่ใช้ในการจัดเก็บสำรองวัตถุดิบ และสินค้า ไว้ใช้ในการดำเนินงานอย่างเหมาะสมโดยหน้าที่หลักของคลังสินค้าจะทำหน้าที่ในการจัดเก็บรักษาวัตถุดิบ สินค้าสำเร็จรูป ทั้งเพื่อรอนำเข้าสู่กระบวนการผลิต และรอการจัดจำหน่ายไปยังตลาด ซึ่งในบางครั้งอาจต้องใช้เวลา ผลิตเสร็จอาจไม่มีคำสั่งซื้อหรือมีคำสั่งซื้อเป็นจำนวนไม่เหมาะสม อาจทำให้ต้องมีการเก็บรักษาไว้ระยะเวลาหนึ่งเพื่อรอการจำหน่ายต่อไป
       2. สามารถตอบสนองการทำงานในระบบการทำงานแบบทันเวลาพอดี (Just in Time) ซึ่งเป็นปรัชญาการบริหารสินค้าคงคลังที่มุ่งลดการสูญเสีย และลดสินค้าคงคลัง ระบบจะเน้นในเรื่องการผลิตในสิ่งที่ลูกค้าต้องการ และจะต้องการวัตถุดิบเมื่อมีการผลิตด้วยต้นทุนที่ต่ำ และคุณภาพที่เหมาะสม ลดการถือครองสินค้า หรือวัตถุดิบลงจนทำให้เกิดการพัฒนารูปแบบการจัดตารางการส่งสินค้า และปรับลดระยะเวลาในสถานที่พักสินค้าลงให้มากที่สุดจนกลายเป็นรูปแบบของศูนย์กระจายสินค้าในปัจจุบัน การดำเนินงานในรูปแบบนี้จะต้องประสานกันอย่างใกล้ชิดกับความต้องการในอุปสงค์ด้านโลจิสติกส์ บริษัทขนส่ง ผู้จัดส่งสินค้า วัตถุดิบ และผู้ผลิต
       3. ตอบสนองความพึงพอใจของลูกค้าในด้านการมีสินค้าและบริการไว้อย่างต่อเนื่อง การมีระบบของการจัดการคลังสินค้าที่ดี เหมาะสม จะช่วยให้การจัดการเกี่ยวกับสินค้าที่มีอยู่ จัดส่งไปให้บริการลูกค้าตามคำสั่งซื้อ และเวลาที่ลูกค้าต้องการได้ทันท่วงที เป็นอีกบริบทหนึ่งของการสร้างความพึงพอใจให้แก่ลูกค้า
       4. ป้องกันการขาดแคลนสินค้าที่อาจมีการปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์ของตลาดและฤดูกาล คลังสินค้าทำหน้าที่ในการจัดเก็บสำรองวัตถุดิบ และสินค้าสำเร็จรูปในปริมาณที่เหมาะสม ย่อมเป็นวิธีการในการป้องกันการขาดแคลนสินค้าที่จะตอบสนองความต้องการของตลาดและลูกค้าได้
       5. ก่อให้เกิดความประหยัดในด้านต้นทุนดำเนินการและระบบการผลิตสินค้า กล่าวคือ ในทฤษฏีเรื่องความประหยัดที่มีต่อขนาด Economies of Scale การมีคลังสินค้าช่วยส่งเสริมการผลิตจำนวนมากอันส่งผลไปสู่ต้นทุนรวมในการผลิตที่จะลดลงตามขนาดของการผลิต
       6. สร้างความได้เปรียบด้านการแข่งขันในอุตสาหกรรม คลังสินค้าจัดเป็นเครื่องมือที่สำคัญอย่างหนึ่งในการสร้างความได้เปรียบทางด้านการแข่งขัน ทั้งในด้านเวลา สถานที่ ปริมาณ ที่พร้อมเสมอที่จะให้บริการแก่ลูกค้าของธุรกิจอย่างต่อเนื่อง

ในปัจจุบันการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรในประเทศไทยมีอัตราสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลต่อความต้องการบริโภคสินค้า และบริการ หน้าที่ในการตอบสนองความต้องการเหล่านั้นเป็นหน้าที่ของผู้ผลิต และผู้จัดจำหน่ายสินค้า ที่จะต้องตอบสนองให้ทันเวลาและความต้องการ คลังสินค้าอาจไม่สามารถสนองความต้องการได้อย่างสมบูรณ์ ผู้ประกอบการค้าส่ง และค้าปลีกจึงหันมาให้ความสำคัญกับการสร้างศูนย์กระจายสินค้า เพื่อช่วยให้ธุรกิจลดต้นทุนด้านการจัดจำหน่าย รวมทั้งการให้บริการที่ดี รวดเร็ว ประโยชน์พื้นฐานของศูนย์กระจายสินค้าจะแตกต่างจากคลังสินค้าทั่วไป ซึ่งพอสรุปได้ดังนี้
       1. ศูนย์กระจายสินค้าจะเป็นจุดรวบรวมสินค้า (Consolidation Facility) แยกประเภท (Product Assortment Facility) และกระจายสินค้า (Distribution) ที่มาจากต้นทางหลายแห่งเพื่อไปยังลูกค้า โดยผู้ขนส่งสินค้าจากแหล่งต่าง ๆ จะนำสินค้ามารวมรวมที่ศูนย์กระจายสินค้า เพื่อบรรจุและคัดแยกสินค้า ส่งมอบโดยกระจายสินค้าแก่ลูกค้าปลายทางที่หลากหลาย การดำเนินการในลักษณะนี้จะช่วยลดต้นทุนในการขนส่งจากต้นทาง (ผู้ผลิต) ไปยังลูกค้าปลายทาง (ผู้ประกอบการค้าส่ง และค้าปลีก)
       2. เป็นจุดเปลี่ยนถ่ายสินค้าระหว่างการขนส่งหลายรูปแบบ (Inter-Modal Trans-Shipment Facility) เช่น การเปลี่ยนถ่ายจากการขนส่งโดยรถบรรทุกคอนเทนเนอร์ มาเป็นรถบรรทุกขนาดเล็ก หรือจากการขนส่งจากรถไฟ มาเป็นรถบรรทุก ซึ่งเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้สินค้าและบริการเคลื่อนที่และส่งมอบให้กับลูกค้าปลายทางได้อย่างเหมาะสมตามสภาพของแต่ละท้องถิ่น
       3. ศูนย์กระจายสินค้าจะทำหน้าที่เป็นจุดเก็บสินค้า (Storage Facility) เพื่อเป็นที่เก็บสินค้าในการนำส่งต่อไปยังลูกค้า โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดระยะทางและเวลาในการนำส่ง โดยปกติการจัดตั้งศูนย์กระจายสินค้าของผู้ประกอบการค้าส่ง และค้าปลีกขนาดใหญ่ มักจะกำหนดพื้นที่ในการจัดตั้งศูนย์โดยแบ่งเป็นเขตหรือ โซน แต่ละเขต หรือโซนจะรับผิดชอบพื้นที่การให้บริการลูกค้า โดยมีกำหนดระยะเวลาในการดำเนินงานสั้น ๆ เพื่อให้ทันเวลา สามารถส่งมอบสินค้าให้ลูกค้าได้อย่างสม่ำเสมอ
       4. จุดให้บริการด้านการผลิต (Manufacturing related Services) และ บริการด้านโลจิสติกส์ (Logistics related Services) เป็นการให้บริการที่เพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า สำหรับการบริการด้านการจัดการที่อยู่ในศูนย์กระจายสินค้ามักจะเป็นการดำเนินกิจกรรม ง่าย ๆ เช่น การบรรจุหีบห่อ ที่เหมาะสม และนำส่งให้กับลูกค้าปลายทางตามความต้องการ
   โดยทั่วไปกิจกรรมพื้นฐานภายในคลังสินค้าจะประกอบด้วย 3 กิจกรรมหลัก ได้แก่ กิจกรรมในการรับสินค้า (receiving) กิจกรรมในการเก็บสินค้าเข้าชั้นวาง (Put-away or Transfer/Bulk storage) และกิจกรรมในการจ่ายสินค้าหรือหยิบสินค้า (Order Picking) สำหรับศูนย์กระจายสินค้าจะมีกิจกรรมพิเศษเพิ่มเติม คือ กิจกรรมในการคัดแยกหรือแปลงหน่วย (Selection or Let down) เพื่อแยกสินค้าเป็นหน่วยย่อย และบรรจุลงในหีบห่อใหม่สำหรับจัดส่งให้กับร้านค้าปลีกที่เป็นสาขาทั่วไป

Distribution Center

ในส่วนความหมายของคำว่า ศูนย์กระจายสินค้า (Distribution Center) มีผู้ให้คำจำกัดความที่เป็นความหมายที่น่าสนใจ และทำให้สามารถแยกแยะความแตกต่างระหว่างคลังสินค้าและศูนย์กระจายสินค้าได้อย่างชัดเจน ดังนี้
   ในพจนานุกรมโลจิสติกส์ ได้ให้คำจำกัดความคำว่า ศูนย์กระจายสินค้า “เป็นคลังสินค้าของผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป ซึ่งรวมไปถึงสถานที่ที่รวมสินค้าของการค้าส่งและค้าปลีก”(ก่อเกียรติวิริยะกิจพัฒนา.2549)
ศูนย์กระจายสินค้า คือ คลังสินค้าที่ทำหน้าที่ทั้งในฐานะเป็นคลังสินค้า (Warehouse) และเป็นหน่วยเชื่อมโยงระหว่างผู้ผลิต (Manufacturer) กับผู้ขายปลีก (Retailers)
   ศูนย์กระจายสินค้าหรือศูนย์จัดจำหน่าย นิยมเรียกย่อ ๆ ว่า DC ที่มาจากคำว่า (Distribution center) หมายถึง คลังสินค้าของบริษัทเอกชน ที่ดำเนินการในการรวบรวมคำสั่งซื้อจากหลาย ๆ ที่รวบรวมเป็นคำสั่งซื้อเดียว และจัดส่งคำสั่งซื้อไปยังโรงงานผู้ผลิต หรือ Suppliers เพื่อให้จัดส่งสินค้ามาในคราวเดียวเพื่อลดต้นทุน ลดระยะเวลาในการจัดส่ง และทำหน้าที่ในการแยกย่อยสินค้าไปบรรจุลงกล่องจัดส่งไปยังสาขาต่าง ๆ ของบริษัทเอกชนเหล่านั้น ถือว่าเป็นคลังสินค้าอีกประเภทหนึ่งที่ได้รับความนิยมมาก ดำเนินการจัดตั้งขึ้นโดยธุรกิจคนกลางทั้งค้าส่ง และค้าปลีกโดยมีวัตถุประสงค์ในการรวบรวมการจัดส่งสินค้าจากโรงงานผู้ผลิตต่าง ๆ หรือ Suppliers จำนวนมาก ให้จัดส่งสินค้าไปยังที่ใดที่หนึ่งเพื่อลดต้นทุนของเวลา และค่าใช้จ่าย โดยศูนย์กระจายสินค้าจะทำหน้าที่ในการแยกแยะสินค้าที่มีขนาดใหญ่ออกเป็นขนาดย่อยและจัดส่งไปยังสาขาของธุรกิจที่กระจัดกระจายกันทั่วไป ศูนย์กระจายสินค้า หรือ DC เป็นวิธีการที่ทันสมัยโดยมีปรัชญาการดำเนินงานเพื่อลดต้นทุนคลังสินค้า ลดการมีสินค้าคงคลังเกินความจำเป็น ลดระยะเวลาในการเก็บรักษาสินค้า มีการบริหารจัดการโดยใช้เทคโนโลยี รับคำสั่งซื้อจากสาขาต่าง ๆ ของกิจการ กล่าวคือ ทำหน้าที่ในการรวบรวมคำสั่งซื้อที่มีปริมาณไม่มากนักจากสาขาจนกลายเป็นคำสั่งซื้อที่มีปริมาณมากขึ้น เพื่อสะดวกในสั่งซื้อ รวมการขนส่งสินค้า
ปัจจุบันได้มีแนวคิดด้านการกระจายสินค้าไปอย่างรวดเร็ว และเรียกวิธีการนี้ว่า Cross Dock โดยให้สินค้ามีเวลาอยู่ในศูนย์กระจายสินค้าน้อยที่สุด ระบบ Cross Dock จะทำหน้าที่บรรจุและคัดแยกสินค้า โดยเปลี่ยนถ่ายสินค้าหรือโอนถ่ายสินค้าจากพาหนะขาเข้าที่มาส่งสินค้าไปยังพาหนะขาออกโดยตรงผ่านศูนย์กระจายสินค้า โดยไม่มีการนำไปจัดเก็บ (Put - away) ดังนั้นการทำงานในรูปแบบ Cross Dock ต้องอาศัยการวางแผนและการประสานงานที่ดี โดยปกติในการควบคุมการทำงานให้เกิดประสิทธิผลจะมีการสร้างระบบชุดคำสั่งควบคุมหรือ software ขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่ในการเชื่อมโยง และประสานงานซึ่งจะช่วยให้เกิดการลดต้นทุนในระบบการจัดเก็บลง อีกทั้งทำให้สินค้าไปถึงจุดหมายปลายได้รวดเร็ว
   สรุป ความหมายของคำว่า ศูนย์กระจายสินค้า (Distribution center) เป็นคลังสินค้าลักษณะหนึ่งที่เน้นกระบวนการในการกระจาย คัดแยกหรือแปลงหน่วยสินค้าไปยังร้านค้าย่อย มักเป็นที่รวมสินค้าของการค้าปลีกและค้าส่ง

คลังสินค้ามีรูปแบบและวิธีการที่แตกต่างกันไป และถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อดำเนินกิจกรรมอันเกี่ยวข้องกับการเก็บรักษาสินค้าสำเร็จรูป และวัตถุดิบ เพื่อใช้ในเวลาที่เหมาะสม อย่างไรก็ตามแม้คลังสินค้าจะมีหลากหลายรูปแบบ แต่จะมีวัตถุประสงค์หลักที่สำคัญที่คล้ายคลึงกัน ซึ่งพอสรุปได้ดังนี้
       1. เพื่อทำหน้าที่รักษาระดับสินค้าคงคลังให้อยู่ในปริมาณที่เหมาะสม
       2. เพื่อสนับสนุนการผลิต ให้มีวัตถุดิบและส่วนที่เกี่ยวข้องไว้ใช้อย่างเพียงพอ
       3. เพื่อทำหน้าที่ผสมผสานสินค้า
       4. เพื่อทำหน้าที่รวบรวมสินค้าก่อนจัดส่ง
       5. เพื่อทำหน้าที่คัดแยกหีบห่อ หรือทำหน้าที่เป็นศูนย์กระจายสินค้า

คลังสินค้า

มีผู้ให้ความหมาย/คำจำกัดความของคำว่า คลังสินค้า (Warehouse) ไว้หลายความหมาย ซึ่งขอนำมากล่าวไว้ดังนี้
       - พื้นที่ที่ได้วางแผนแล้วเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการใช้สอยและเคลื่อนย้ายสินค้าและวัตถุดิบ (A planned space for the efficient accommodation and handling of goods and materials) (คำนาย อภิปรัชญาสกุล.2547)
       - เป็นส่วนหนึ่งของระบบโลจิสติกส์ของกิจการซึ่งเก็บสินค้าคงคลังที่อยู่ในระหว่างจุดกำเนิดกับจุดบริโภค และจัดหาสารสนเทศเพื่อการบริหารในเรื่องสถานะภาพ เงื่อนไข และการจัดเรียงของสินค้าคงคลังที่กำลังเก็บอยู่ (โภคทรัพย์ พุ่มพวง.2549; อ้างอิงมาจาก J R Stock and D M Lambert)
       - ตามพระราชบัญญัติศุลกากร พุทธศักราช 2469 คำว่า “คลังสินค้า” หมายความว่า “โรงพักสินค้าที่มั่นคง” ปัจจุบันความหมายคลังสินค้าครอบคลุมถึงสถานที่จัดเก็บสินค้าทำหน้าที่เป็น จุดพัก จัดเก็บ กระจายการจัดสินค้า หรือ วัตถุดิบ ทั้งในส่วนของการบริหารสินค้าคงคลัง และการบริหารการจัดเก็บ
       - สถานที่สำหรับจัดเก็บของหรือสินค้าต่าง ๆ จำนวนมาก
       - สิ่งปลูกสร้างที่มีไว้ใช้ในการพักและเก็บรักษาสินค้าในปริมาณที่มาก ๆ
คลังสินค้า (Warehouse) หรือที่ในอดีตนิยมเรียกว่า โกดัง (godown) คือ อาคารทางพาณิชย์ที่ใช้สำหรับเก็บสินค้าเพื่อรอการขนส่ง คลังสินค้าถูกใช้โดยผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้ส่งออก ผู้ค้าส่ง ธุรกิจขนส่ง ศุลกากร ฯลฯ คลังสินค้ามักเป็นอาคารหลังใหญ่และกว้างตั้งอยู่ในเขตอุตสาหกรรมในตัวเมือง ภายในอาคารมีทางลาดเอียงสำหรับขนถ่ายสินค้าขึ้นหรือลงรถ หรือบางครั้งก็ขนถ่ายสินค้ามาจากสถานีรถไฟ สนามบิน หรือท่าเรือโดยตรงและมักจะมีเครนหรืรถฟอร์คลิฟท์ เพื่อเคลื่อนย้ายสินค้าที่วางอยู่บนพาเลท (pallet) ไปยังสถานที่จัดเก็บต่อไป
   จากความข้างต้นสามารถสรุป ความหมายของคำว่า คลังสินค้า (Warehouse) หมายถึง สถานที่ที่ใช้ในการจัดเก็บวัตถุดิบ สินค้าสำเร็จรูป เพื่อสำรองไว้ใช้ในเวลาที่เหมะสม
   ในส่วนของความหมายที่เกี่ยวข้องกับคลังสินค้า คือ คำว่า การคลังสินค้า (Warehousing) หมายถึง การเก็บรักษาสินค้า
   การคลังสินค้า (Warehousing) หมายถึง กระบวนการในการรับ การเก็บ การหยิบ ตลอดจนถึงการส่งสินค้า ให้แก่ผู้รับเพื่อการขาย หรือการใช้งานต่อไป (ก่อเกียรติ วิริยะกิจพัฒนา.2549)การคลังสินค้า (Warehousing) หมายถึง การปฏิบัติทางกายภาพเกี่ยวกับการรับ การเก็บรักษา และการจ่ายพัสดุ (คำนาย อภิปรัชญาสกุล.2548;อ้างอิงมาจากT.M. 743-200, Storage and Materials handing)
   สรุปความหมายของคำว่า การคลังสินค้า (Warehousing) หมายถึง การดำเนินการเกี่ยวกับการรับเก็บรักษาสินค้า ดูแลและให้บริการต่าง ๆ แก่ลูกค้า

Combination System

ระบบการจัดเก็บแบบผสม (Combination System)                         เป็นรูปแบบการจัดเก็บที่ผสมผสานหลักการของรูปแบบการจัดเก็บในข้างต้น โดยตำแหน่งในการจัดเก็บนั้นจะมีการพิจารณาจากเงื่อนไขหรือข้อจำกัดของสินค้าชนิดนั้นๆ เช่น หากคลังสินค้านั้นมีสินค้าที่เป็นวัตถุอันตรายหรือสารเคมีต่างๆ รวมอยู่กับสินค้าอาหาร จึงควรแยกการจัดเก็บสินค้าอันตราย และสินค้าเคมีดังกล่าวให้อยู่ห่างจากสินค้าประเภทอาหาร และเครื่องดื่ม เป็นต้น ซึ่งถือเป็นรูปแบบการจัดเก็บแบบกำหนดตำแหน่งตายตัว สำหรับพื้นที่ที่เหลือในคลังสินค้านั้น เนื่องจากมีการคำนึงถึงเรื่องการใช้งานพื้นที่จัดเก็บ ดังนั้นจึงจัดใกล้ที่เหลือมีการจัดเก็บแบบไม่ได้กำหนดตำแหน่งตายตัว (Random) ก็ได้ โดยรูปแบบการจัดเก็บแบบนี้เหมาะสำหรับคลังสินค้าทุกๆแบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคลังสินค้าที่มีขนาดใหญ่และสินค้าที่จัดเก็บนั้นมีความหลากหลาย
                            ข้อดี
                              - มีความยืดหยุ่นสูง
                              - เป็นการประสานข้อดีจากทุกระบบการจัดเก็บ
                              - สามารถปรับเปลี่ยนการจัดเก็บได้ตามสภาพของคลังสินค้า
                              - สามารถควบคุมการจัดเก็บได้เป็นอย่างดี
                              - ขยายการจัดเก็บได้ง่าย
                          ข้อเสีย
                             - อาจทำให้ผู้ปฏิบัติงานเกิดความสับสนเนื่องจากมีระบบการจัดเก็บมากกว่า 1 วิธี
                            - การใช้ประโยชน์จากพื้นที่จัดเก็บมีความไม่แน่นอน เปลี่ยนได้ตลอดเวลา

Random Location System

ระบบการจัดเก็บที่ไม่ได้กำหนดตำแหน่งตายตัว (Random Location System)
เป็นการจัดเก็บที่ไม่ได้กำหนดตำแหน่งตายตัว ทำให้สินค้าแต่ละชนิดสามารถถูกจัดเก็บไว้ในตำแหน่งใดก็ได้ในคลังสินค้า แต่รูปแบบการจัดเก็บแบบนี้จำเป็นต้องมีระบบสารสนเทศในการจัดเก็บและติดตามข้อมูลของสินค้าว่าจัดเก็บอยู่ในตำแหน่งใดโดยต้องมีการปรับปรุงข้อมูลอยู่ตลอดเวลาด้วย ซึ่งในการจัดเก็บแบบนี้จะเป็นรูปแบบที่ใช้พื้นที่จัดเก็บอย่างคุ้มค่า เพิ่ม การใช้งานพื้นที่จัดเก็บและเป็นระบบที่ถือว่ามีความยืดหยุ่นสูง เหมาะกับคลังสินค้าทุกขนาด
      ข้อดี
                            - สามารถใช้งานพื้นที่จัดเก็บได้อย่างเกิดประโยชน์สูงสุด
                            - มีความยืดหยุ่นสูง
                            - ง่ายต่อการขยายการจัดเก็บ
                            - ง่ายในการปฏิบัติงาน
                            - ระยะทางเดินหยิบสินค้าไม่ไกล
                          ข้อเสีย
                            - ต้องมีการบันทึกข้อมูลการจัดเก็บสินค้าอย่างละเอียดและมีประสิทธิภาพ
                            - ต้องเข้มงวดในติดตามการบันทึกข้อมูลการจัดเก็บ
เป็นรูปแบบการจัดเก็บสินค้าตามประเภทของสินค้าหรือประเภทสินค้า (product type) โดยมีการจัดตำแหน่งการวางคล้ายกับร้านค้าปลีกหรือตาม supermarket ทั่วไปที่มีการจัดวางสินค้าในกลุ่มเดียวกันหรือประเภทเดียวกันไว้ ตำแหน่งที่ใกล้กัน ซึ่งรูปแบบในการจัดเก็บสินค้าแบบนี้จัดอยู่ในแบบ combination system ซึ่งจะช่วยในการเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บสินค้าคือมีการเน้นเรื่อง การใช้งานพื้นที่จัดเก็บ มากขึ้น และยังง่ายต่อพนักงาน pick สินค้าในการทราบถึงตำแหน่งของสินค้าที่จะต้องไปหยิบ แต่มีข้อเสียเช่นกันเนื่องจากพนักงานที่หยิบสินค้าจำเป็นต้องมีความรู้ในเรื่องของสินค้าแต่ละชิดหรือแต่ละยี่ห้อที่จัดอยู่ในประเภทเดียวกัน ไม่เช่นนั้นอาจเกิดการ pick สินค้าผิดชนิดได้ จากตารางแสดงข้อดีและข้อเสียของการจัดเก็บในรูปแบบนี้
     ข้อดี
                            - สินค้าถูกแบบ่งตามประเภททำให้พนักงานผู้ปฏิบัติงานเข้าได้ได้ง่าย
                            - การหยิบสินค้าทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ
                            - มีความยืดหยุ่นสูง
                         ข้อเสีย
                            - ในกรณีที่สินค้าประเภทเดียวกันมีหลายรุ่น/ยี่ห้อ อาจทำให้หยิบสินค้าผิดรุ่น/ยี่ห้อได้
                            - จำเป็นต้องมีความรู้ในเรื่องของสินค้าแต่ละชิดหรือแต่ละยี่ห้อที่จะหยิบ
                            - การใช้สอยพื้นที่จัดเก็บดีขึ้นแต่ยังไม่ดีที่สุด
                            - สินค้าบางอย่างอาจยุ่งยากในการจัดประเภทสินค้า
รูปแบบการจัดเก็บโดยใช้รหัสสินค้า (Part Number) มีแนวคิดใกล้เคียงกับการจัดเก็บแบบกำหนดตำแหน่งตายตัว (Fixed Location) โดยข้อแตกต่างนั้นจะอยู่ที่การเก็บแบบใช้รหัสสินค้า นั้นจะมีลำดับการจัดเก็บเรียงกันเช่น รหัสสินค้าหมายเลข A123 นั้นจะถูกจัดเก็บก่อนรหัสสินค้าหมายเลข B123 เป็นต้น ซึ่งการจัดเก็บแบบนี้จะเหมาะกับบริษัทที่มีความต้องการส่งเข้า และนำออกของรหัสสินค้าที่มีจำนวนคงที่เนื่องจากมีการกำหนดตำแหน่งการจัดเก็บไว้แล้ว ในการจัดเก็บแบบใช้รหัสสินค้านี้ จะทำให้พนักงานรู้ตำแหน่งของสินค้าได้ง่าย แต่จะไม่มีความยืดหยุ่นในกรณีที่องค์กรหรือบริษัทนั้นกำลังเติบโตและมีความต้องการขยายจำนวน SKU ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาเรื่องพื้นที่ในการจัดเก็บ
                         ข้อดี
                           - ง่ายต่อการค้นหาสินค้า
                           - ง่ายต่อการหยิบสินค้า
                           - ง่ายต่อการนำไปใช้
                           - ไม่จำเป็นต้องมีการบันทึกตำแหน่งสินค้า
                        ข้อเสีย
                           - ไม่ยืดหยุ่น
                           - ยากต่อการปรับปริมาณความต้องการสินค้า
                           - การเพิ่มการจัดเก็บสินค้าใหม่จะมีผลกระทบต่อการจัดเก็บสินค้าเดิมทั้งหมด
                           - ใช้พื้นที่จัดเก็บไม่ได้ไม่เต็มที่
แนวความคิดในการจัดเก็บสินค้ารูปแบบนี้เป็นแนวคิดที่มาจากทฤษฎีกล่าวคือ สินค้าทุกชนิดหรือทุก SKU นั้นจะมีตำแหน่งจัดเก็บที่กำหนดไว้ตายตัวอยู่แล้ว ซึ่งการจัดเก็บรูปแบบนี้เหมาะสำหรับคลังสินค้าที่มีขนาดเล็ก มีจำนวนพนักงานที่ปฏิบัติงานไม่มากและมีจำนวนสินค้าหรือจำนวน SKU ที่จัดเก็บน้อยด้วย โดยจากการศึกษาพบว่าแนวคิดการจัดเก็บสินค้านี้จะมีข้อจำกัดหากเกิดกรณีที่สินค้านั้นมีการสั่งซื้อเข้ามาทีละมากๆจนเกินจำนวน location ที่กำหนดไว้ของสินค้าชนิดนั้นหรือในกรณีที่สินค้าชนิดนั้นมีการสั่งซื้อเข้ามาน้อยในช่วงเวลานั้น จะทำให้เกิดพื้นที่ที่เตรียมไว้สำหรับสินค้าชนิดนั้นว่าง ซึ่งไม่เป็นการใช้ประโยชน์ของพื้นที่ในการจัดเก็บที่ดี
    ข้อดี
                           - ง่ายต่อการนำไปใช้
                           - ง่ายต่อการปฏิบัติงาน
                        ข้อเสีย
                           - ใช้พื้นที่จัดเก็บไม่ได้ไม่เต็มที่
                           - ต้องเสียพื้นที่จัดเก็บโดยเปล่าประโยชน์ในกรณีที่ไม่มีสินค้าอยู่ในสต็อก
                           - ต้องใช้พื้นที่มากหลายตำแหน่งในการจัดเก็บสินค้าให้มากที่สุด
                           - ยากต่อการขยายพื้นที่จัดเก็บ
                           - ยากต่อการจดจำตำแหน่งจัดเก็บสินค้า
เป็นรูปแบบการจัดเก็บสินค้าที่ไม่มีการบันทึกตำแหน่งการจัดเก็บเข้าไว้ในระบบ และสินค้าทุกชนิดสามารถจัดเก็บไว้ตำแหน่งใดก็ได้ในคลังสินค้า ซึ่งพนักงานที่ปฏิบัติงานในคลังสินค้านั้นจะเป็นผู้ที่รู้ตำแหน่งในการจัดเก็บรวมทั้งจำนวนที่จัดเก็บ ซึ่งจะเห็นได้ว่ารูปแบบการจัดเก็บนี้เหมาะสำหรับคลังสินค้าที่มีขนาดเล็ก มีจำนวนสินค้าหรือ SKU น้อย และมีจำนวนตำแหน่งที่จัดเก็บน้อยด้วย สำหรับในการทำงานในนั้นจะมีการแบ่งพนักงานที่รับผิดชอบเฉพาะเป็นโซนๆ โดยที่แต่ละโซนนั้นไม่ได้มีแนวทางการปฏิบัติในเรื่องการจัดเก็บแล้วแต่พนักงานที่ปฏิบัติงานในโซนนั้นๆ ดังนั้นจึงไม่ได้มีแนวทางที่เหมือนกัน จึงทำให้อาจเกิดปัญหาการจัดเก็บหรือการที่หาสินค้านั้นไม่เจอในวันที่พนักงานที่ประจำในโซนนั้นไม่มาทำงาน ตารางด้านล่างจะแสดงการเปรียบเทียบข้อดี และข้อเสียของรูปแบบการจัดเก็บสินค้าโดยไร้รูปแบบ
                       ข้อดี
                          - ไม่ต้องการการบำรุงรักษาอุปกรณ์และเครื่องมือต่างๆ
                          - มีความยืดหยุ่นสูง
                       ข้อเสีย
                          - ยากในการหาสินค้า
                          - ขึ้นอยู่กับทักษะของพนักงานคลังสินค้า
                          - ไม่มีประสิทธิภาพ

ฺBreakingnews